ประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบ การถวายธงตะขาบเป็นประเพณีที่ชาวไทยรามัญเมืองปทุมธานี ถือปฏิบัติกันในเทศกาลวันสงกรานต์ กระทำกันที่เสาหงส์หน้าเจดีย์ หรือ โบสถ์ วิหารอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวรามัญแห่งหงสาวดีเสาหงส์ทำด้วยไม้กลมหรือเหลี่ยมมีเสาประกบคู่ประดับด้วยบัวหัวเสาที่ปลายเสามีรูปหงส์ทรงเครื่องหล่อด้วยโลหะยืนอยู่ปลายเสากางปีกทั้งสองข้างที่จะงอยปากหงส์แขวนด้วยกระดิ่ง บนสุดมีฉัตรสามชั้นปักอยู่ ชาวรามัญเรียกเสาหงส์ว่า “เทียะเจมเจียนู่ ” ประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบจะจัดทำกันในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ที่ศาลาวัด โดยใช้ผ้าเป็นผืนยาวตัดเป็นรูปตัวตะขาบ ใส่ไม้ไผ่เป็นระยะๆ ตลอดผืน ติดธงเล็กๆ ที่ซี่หัวไม้ไผ่ เมื่อเสร็จแล้วดูไกลๆ คล้ายตัวตะขาบ ชาวรามัญเรียกธงนี้ว่า “ อะลามเทียะกี้ ” หลังจากทำเสร็จแล้ว ในตอนบ่ายก็จะมีการแห่ธง โดยช่วยกันจับขอบธงตลอดทั้งผืน แห่ธงไปตามหมู่บ้าน มีขบวนเถิดเทิงกลองยาวประกอบขบวน เสร็จแล้วนำมาทำพิธีถวายธงที่หน้าเสาหงส์ แล้วชักขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า และสืบสานประเพณีต่อมาจนถึงทุกวันนี้ สารคดี ประเพณี วิถีชุมชน ตอน “ประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบ”เป็นผลงานสร้างสรรค์ การผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทสารคดี ของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ซึ่งเป็นการบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในรายวิชา การผลิตรายการโทรทัศน์ดิจิตอล เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะด้านการผลิตรายการโทรทัศน์จริง อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงรณรงค์ให้คนในชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดต่อๆกันมาของชาวปทุมธานี